วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

การฝึกอบรมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์


การฝึกอบรมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์



การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีหลากกหลายคำที่ใช้แตกต่างกัน เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การฝึกอบรม การฝึกอบรมและพัฒนา การพัฒนาและฝึกอบรม เป็นต้น ไม่ว่าจะใช้คำเรียกแตกต่างกันอย่างไร โดยเนื้อหาแล้ว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นกระบวนการที่องค์กรดำเนินการกับพนักงาน เพื่อให้พนักงานมีความรู้ความสามารถ ทักษะ หรือประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน เพื่อทำให้องค์กรประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง กระบวนการจัดการขององค์กรเพื่อส่งเสริมให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ผลสำเร็จตามที่องค์กรตั้งเป้าหมายไว้ในแต่ละตำแหน่ง ซึ่งสามารถดำเนินการพัฒนาได้หลายวิธี ได้แก่ การศึกษา การฝึกอบรม และการพัฒนา เพื่อทำให้พนักงานเกิดความรู้ ความสามารถ สมรรถนะ ทักษะ ประสบการณ์ และเจตคติที่ดี

การฝึกอบรม คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคล ที่จัดขึ้นอย่างมีระบบ ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยใช้เทคนิคหรือเทคโนโลยีในการอบรมที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เขาฝึกอบรมได้เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และความชำนาญ และเกิดเจตคติที่ดีต่อการปฏิบัติงาน ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล


ประเภทของการฝึกอบรม
          การแบ่งประเภทของการฝึกอบรม สามารถแบ่งใหญ่ๆได้ 2 ประเภท ได้แก่ การฝึกอบรมโดยการลงมือปฏิบัติงาน (On-the-job training) และ การฝึกอบรมที่ไม่ใช่การลงมือปฏิบัติงาน (Off-the-job training) (สุจิตรา ธนานันท์, 2552: 54)
1.      การฝึกอบรมโดยการลงมือปฏิบัติงาน
การฝึกอบรมประเภทนี้เป็นการถ่ายทอดความรู้จากผู้ที่มีความรู้ มีทักษะและประสบการณ์สูงไปสู่พนักงานคนอื่นๆ โดยเฉพาะพนักงานใหม่ขององค์กร ได้แก่
1)      การสอนงาน (Job instruction)
การสอนงานนี้ มักเป็นการสอนงานสำหรับพนักงานใหม่ขององค์กร เพื่อให้ทราบถึงเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และนโยบายขององค์กร และทราบถึงหน้าที่การงานต่างๆ ซึ่งมักมีคู่มือการสอนงานประกอบ เพื่อใช้ในการศึกษางานของตนเอง การสอนงานอาจมีทั้งการสอนแบบบรรยายและการลงมือปฏิบัติงานจริง
2)      การสอนแนะ (Coaching)
การสอนแนะเป็นส่วยย่อยส่วนหนึ่งของการสอนงาน โดยผู้สอนงานซึ่งมักจะเป็นหัวหน้างานโดยตรง มีเป้าหมายระยะสั้นในการสอนงานเพื่อให้สามารถทำงานในตำแหน่งปัจจุบันได้ตามวัตถุประสงค์ตามตำแหน่งงาน รวมถึงการสอนในประโนการแก้ไขปัญหาในการทำงานที่อาจเกิดขึ้นได้
3)      การเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring)
เป็นแนวทางให้คำแนะนำ การสอนงาน และอบรมในการสร้างปฏิสัมพันธ์ในการปฏิบัติงาน โดยรุ่นพี่หรือผู้อยู่ตำแหน่งสูงกว่า ถือเป็นการถ่ายทอดความรู้และความสามารถเพื่อยกระดับอาชีพของพนักงานแต่ละคนและสร้างความก้าวหน้าในสายอาชีพ ผู้สอนอาจอยู่ในองค์กรเดียวกันหรือต่างองค์กรก็ได้
4)      การหมุนงาน (Job rotation)
การหมุนงาน คือ การโยกย้าย สับเปลี่ยน หมุนเวียนงาน เพื่อที่จะได้เรียนรู้งานทุกด้านในองค์กรและรู้ปัญหาในการทำงานของทุกฝ่ายในองค์กร การหมุนงานจึงก่อให้เกิดความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และทัศนคติในงานด้านต่างๆกว้างขวางมากขึ้น นอกจากนั้น ยังสามารถช่วยลดความขัดแย้งระหว่างพนักงานในฝ่ายต่างๆได้ด้วย รวมถึงการได้แนวคิดใหม่ๆซึ่งอาจส่งผลต่อการสร้างนวัตกรรมในอนาคตของพนักงานที่รับการหมุนงาน
5)      การฝึกงาน
เป็นการผสมผสานการสอนแบบในห้องเรียนและการลงมือปฏิบัติงาน วิธีนี้ นิยมใช้กับพนักงานด้านทักษะฝีมือ เช่น ช่างทาสี ช่างประปา ช่างตัดผม เป็นต้น รวมถึงงานด้านวิชาชีพสำคัญหลายวิชาชีพ เช่น แพทย์ เมื่อจบใหม่ที่ต้องฝึกงานในโรงพยาบาลเพื่อให้เกิดความชำนาญในทักษะทางแพทย์ เป็นต้น
2.      การฝึกอบรมที่ไม่ใช่การลงมือปฏิบัติงาน
การฝึกอบรมประเภทนี้จะต้องหยุดการปฏิบัติงานประจำในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อการเรียนรู้ในสถานที่ฝึกอบรมเฉพาะ เช่น การฝึกอบรมในศูนย์ฝึกอบรมต่างๆ ซึ่งการฝึกอบรมที่ไม่ใช่การลงมือปฏิบัติงาน มีดังนี้ คือ
1)      การฝึกอบรมที่มีลักษณะให้ข้อมูล
เป็นการฝึกอบรมที่ให้ข้อมูลด้านเนื้อหาทางวิชาการ องค์ความรู้ ทฤษฎี แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในอาชีพนั้นๆ เช่น การบรรยาย (Lecture) การสัมมนา (Seminar) เป็นต้น
2)      การฝึกอบรมด้านพฤติกรรม
เป็นการฝึกอบรมที่ให้ความรู้ทางด้านพฤติกรรมกับผู้เข้าฝึกอบรม โดยจุดมุ่งหมายของการฝึกอบรมประเภทนี้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมรู้ตัวตนของตนเองว่าเป็นอย่างไร จะได้ทำการปรับปรุงตนเองหรือแก้ไขพฤติกรรมบางอย่างของตน ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นในองค์กรในเกิดประสิทธิผลตามความคาดหวังขององค์กร โดยทั่วไปแล้ว การฝึกอบรมประเภทนี้มักเกี่ยวข้องกับทักษะการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น การฝึกอบรมโดยใช้บทบาทสมมุติ (Role playing) เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น