วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2561

การตัดสินใจ (Decision)

การตัดสินใจ

ดร.อำพล ชะโยมชัย

ผู้บริหารหรือผู้จัดการในองค์การทุกระดับต้องตัดสินใจ ถือเป็นหน้าที่หนึ่งในการบริหารจัดการองค์การ เพราะองค์การต้องเผชิญแรงกดดันหรือการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายนอกและการเปลี่ยนแปลงภายในอยู่ตลอดเวลา และองค์การต้องพบกับปัญหาต่างๆในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ ปัญหาจากการเปิดเสรีการค้าและการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามประเทศ ปัญหาจากภัยร้ายหรือภัยคุกคามระหว่างประเทศ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและกฎระเบียบของภาครัฐต่างๆ หรือปัญหาจากกระบวนการและโครงสร้างภายในองค์การต่างๆ เช่น การปรับเปลี่ยนนโยบายหรือกลยุทธ์ขององค์การ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพ การจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ การบริหารด้านการเงินเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารและสร้างผลประกอบการที่ดี เป็นต้น
ผู้บริหารหรือผู้จัดการต้องศึกษาและเข้าใจถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจ เช่น วัฒนธรรมที่ต่างกันย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจที่แตกต่างกัน เป็นต้น รวมถึงต้องเข้าใจว่าการตัดสินใจอาจเกิดความลำเอียงหรือความผิดพลาดขึ้นได้ โดยเฉพาะความลำเอียงของผู้ตัดสินใจเองที่อาจส่งผลให้การตัดสินใจไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถจัดการกับปัญหาหรือโอกาสที่กำลังประสบอยู่ได้ ซึ่งการตัดสินใจมีหลายลักษณะและหลายรูปแบบ ผู้บริหารหรือผู้จัดการต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับตนเองและองค์การ และกระบวนการหรือขั้นตอนในการตัดสินใจจะให้แนวทางที่เหมาะสมในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถตัดสินใจให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้น   

“การตัดสินใจในองค์การ” คือ กระบวนการในการเลือกทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับองค์การ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการปัญหาหรือโอกาสที่เกิดกับองค์การ 

ขั้นตอนของรูปแบบการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล (ที่มา : Robbins & Judge, 2017: 217)

  1. ระบุปัญหาที่กำลังเผชิญหรือต้องการแก้ไข
  2.  จำแนกเกณฑ์ในการตัดสินใจ
  3. ให้น้ำหนักในแต่ละเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมา
  4. สร้างทางเลือกต่างๆที่เป็นไปได้
  5. ประเมินทางเลือกต่างๆ
  6. เลือกทางเลือกที่ดีที่สุด


ระดับของการตัดสินใจในองค์การ แบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ ระดับของผู้บริหารระดับสูงที่ต้องตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ ระดับผู้บริหารระดับกลางที่ตัดสินใจยุทธวิธี และระดับของผู้จัดการระดับต้นที่ต้องตดสินใจด้านปฏิบัติการ ส่วนขั้นตอนการตัดสินใจนั้น จะเริ่มจากขั้นแรกที่ต้องตระหนักถึงความจำเป็นในการตัดสินใจ จนถึงขั้นสุดท้ายคือ ขั้นการเรียนรู้จากผลการใช้ทางเลือก โดยมักพบว่า การตัดสินใจจะมีความลำเอียงและความผิดพลาดจากการตัดสินใจเสมอ ซึ่งวิธีที่จะลดปัญหาดังกล่าว ต้องมุ่งที่เป้าหมาย ค้นหาข้อมูลที่ตรงข้ามกับความเชื่อ อย่าสร้างเรื่องราวขึ้นมาสนับสนุนเอง และการเพิ่มทางเลือก สุดท้ายความเข้าใจในเรื่องปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ มีความสำคัญต่อองค์การมาก โดยต้องเข้าใจปัจจัยส่วนบุคคล เช่น บุคลิกภาพ เพศ วัฒนธรรม เป็นต้น และปัจจัยในระดับองค์การ เช่น ระบบการประเมิน ระบบการให้รางวัล  และในบางครั้ง องค์การก็อาจจำเป็นในการใช้การตัดสินใจโดยกลุ่ม เพราะอาจมีความเหมาะสมกว่าการตัดสินใจเดี่ยว เพราะการตัดสินใจกลุ่มจะมีข้อดี คือ ช่วยให้ได้ข้อมูลและความรู้ที่มากกว่า ได้ข้อคิดเห็นที่หลากหลาย และมีคุณค่ามากกว่า เป็นต้น
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น