วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

การฝึกอบรมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์


การฝึกอบรมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์



การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีหลากกหลายคำที่ใช้แตกต่างกัน เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การฝึกอบรม การฝึกอบรมและพัฒนา การพัฒนาและฝึกอบรม เป็นต้น ไม่ว่าจะใช้คำเรียกแตกต่างกันอย่างไร โดยเนื้อหาแล้ว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นกระบวนการที่องค์กรดำเนินการกับพนักงาน เพื่อให้พนักงานมีความรู้ความสามารถ ทักษะ หรือประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน เพื่อทำให้องค์กรประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง กระบวนการจัดการขององค์กรเพื่อส่งเสริมให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ผลสำเร็จตามที่องค์กรตั้งเป้าหมายไว้ในแต่ละตำแหน่ง ซึ่งสามารถดำเนินการพัฒนาได้หลายวิธี ได้แก่ การศึกษา การฝึกอบรม และการพัฒนา เพื่อทำให้พนักงานเกิดความรู้ ความสามารถ สมรรถนะ ทักษะ ประสบการณ์ และเจตคติที่ดี

การฝึกอบรม คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคล ที่จัดขึ้นอย่างมีระบบ ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยใช้เทคนิคหรือเทคโนโลยีในการอบรมที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เขาฝึกอบรมได้เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และความชำนาญ และเกิดเจตคติที่ดีต่อการปฏิบัติงาน ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล


ประเภทของการฝึกอบรม
          การแบ่งประเภทของการฝึกอบรม สามารถแบ่งใหญ่ๆได้ 2 ประเภท ได้แก่ การฝึกอบรมโดยการลงมือปฏิบัติงาน (On-the-job training) และ การฝึกอบรมที่ไม่ใช่การลงมือปฏิบัติงาน (Off-the-job training) (สุจิตรา ธนานันท์, 2552: 54)
1.      การฝึกอบรมโดยการลงมือปฏิบัติงาน
การฝึกอบรมประเภทนี้เป็นการถ่ายทอดความรู้จากผู้ที่มีความรู้ มีทักษะและประสบการณ์สูงไปสู่พนักงานคนอื่นๆ โดยเฉพาะพนักงานใหม่ขององค์กร ได้แก่
1)      การสอนงาน (Job instruction)
การสอนงานนี้ มักเป็นการสอนงานสำหรับพนักงานใหม่ขององค์กร เพื่อให้ทราบถึงเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และนโยบายขององค์กร และทราบถึงหน้าที่การงานต่างๆ ซึ่งมักมีคู่มือการสอนงานประกอบ เพื่อใช้ในการศึกษางานของตนเอง การสอนงานอาจมีทั้งการสอนแบบบรรยายและการลงมือปฏิบัติงานจริง
2)      การสอนแนะ (Coaching)
การสอนแนะเป็นส่วยย่อยส่วนหนึ่งของการสอนงาน โดยผู้สอนงานซึ่งมักจะเป็นหัวหน้างานโดยตรง มีเป้าหมายระยะสั้นในการสอนงานเพื่อให้สามารถทำงานในตำแหน่งปัจจุบันได้ตามวัตถุประสงค์ตามตำแหน่งงาน รวมถึงการสอนในประโนการแก้ไขปัญหาในการทำงานที่อาจเกิดขึ้นได้
3)      การเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring)
เป็นแนวทางให้คำแนะนำ การสอนงาน และอบรมในการสร้างปฏิสัมพันธ์ในการปฏิบัติงาน โดยรุ่นพี่หรือผู้อยู่ตำแหน่งสูงกว่า ถือเป็นการถ่ายทอดความรู้และความสามารถเพื่อยกระดับอาชีพของพนักงานแต่ละคนและสร้างความก้าวหน้าในสายอาชีพ ผู้สอนอาจอยู่ในองค์กรเดียวกันหรือต่างองค์กรก็ได้
4)      การหมุนงาน (Job rotation)
การหมุนงาน คือ การโยกย้าย สับเปลี่ยน หมุนเวียนงาน เพื่อที่จะได้เรียนรู้งานทุกด้านในองค์กรและรู้ปัญหาในการทำงานของทุกฝ่ายในองค์กร การหมุนงานจึงก่อให้เกิดความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และทัศนคติในงานด้านต่างๆกว้างขวางมากขึ้น นอกจากนั้น ยังสามารถช่วยลดความขัดแย้งระหว่างพนักงานในฝ่ายต่างๆได้ด้วย รวมถึงการได้แนวคิดใหม่ๆซึ่งอาจส่งผลต่อการสร้างนวัตกรรมในอนาคตของพนักงานที่รับการหมุนงาน
5)      การฝึกงาน
เป็นการผสมผสานการสอนแบบในห้องเรียนและการลงมือปฏิบัติงาน วิธีนี้ นิยมใช้กับพนักงานด้านทักษะฝีมือ เช่น ช่างทาสี ช่างประปา ช่างตัดผม เป็นต้น รวมถึงงานด้านวิชาชีพสำคัญหลายวิชาชีพ เช่น แพทย์ เมื่อจบใหม่ที่ต้องฝึกงานในโรงพยาบาลเพื่อให้เกิดความชำนาญในทักษะทางแพทย์ เป็นต้น
2.      การฝึกอบรมที่ไม่ใช่การลงมือปฏิบัติงาน
การฝึกอบรมประเภทนี้จะต้องหยุดการปฏิบัติงานประจำในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อการเรียนรู้ในสถานที่ฝึกอบรมเฉพาะ เช่น การฝึกอบรมในศูนย์ฝึกอบรมต่างๆ ซึ่งการฝึกอบรมที่ไม่ใช่การลงมือปฏิบัติงาน มีดังนี้ คือ
1)      การฝึกอบรมที่มีลักษณะให้ข้อมูล
เป็นการฝึกอบรมที่ให้ข้อมูลด้านเนื้อหาทางวิชาการ องค์ความรู้ ทฤษฎี แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในอาชีพนั้นๆ เช่น การบรรยาย (Lecture) การสัมมนา (Seminar) เป็นต้น
2)      การฝึกอบรมด้านพฤติกรรม
เป็นการฝึกอบรมที่ให้ความรู้ทางด้านพฤติกรรมกับผู้เข้าฝึกอบรม โดยจุดมุ่งหมายของการฝึกอบรมประเภทนี้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมรู้ตัวตนของตนเองว่าเป็นอย่างไร จะได้ทำการปรับปรุงตนเองหรือแก้ไขพฤติกรรมบางอย่างของตน ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นในองค์กรในเกิดประสิทธิผลตามความคาดหวังขององค์กร โดยทั่วไปแล้ว การฝึกอบรมประเภทนี้มักเกี่ยวข้องกับทักษะการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น การฝึกอบรมโดยใช้บทบาทสมมุติ (Role playing) เป็นต้น

วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2561

แรงจูงใจ

แรงจูงใจ

ความหมายของแรงจูงใจ                 
Robbins and Judge (2017: 247) ระบุว่า “แรงจูงใจ (Motivation)” คือ กระบวนการที่แสดงถึงความตั้งใจ ทิศทางและความต่อเนื่องของความพยายามของบุคคลเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
นิติพล ภูตะโชติ (2560: 184) ระบุว่า “การจูงใจ” หมายถึง เป็นพลังที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล และเป็นแรงผลักดันให้คนแสดงพฤติกรรมต่างๆออกมา เป็นเรื่องของการกระตุ้นทำให้มนุษย์เกิดพฤติกรรมหรือเกิดการกระทำ เพื่อให้บรรลุถึงความต้องการ ความปรารถนา ผลตอบแทน หรือเป้าหมายตามที่บุคคลต้องการ
รัตติกรณ์ จงวิศาล (2560: 69) ระบุว่า เมื่อกล่าวถึงแรงจูงใจ มักมีคำที่เกี่ยวข้องหลายคำ เช่น
·         ความต้องการ (Needs) เป็นสภาวะการขาดสมดุลบางอย่างของบุคคล อาจเป็นทางด้านร่างกาย เช่น อาหาร หรือ ด้านจิตใจ เช่น การยอมรับ ชื่อเสียง
·         แรงขับ (Drives) เป็นสิ่งเร้าหรือแรงผลักดันที่เกิดจากความต้องการ ซึ่งจะกระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรมไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เพื่อตอบสนองความต้องการนั้น
·         สิ่งจูงใจ (Incentives) เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลดึงดูด กระตุ้น หรือผลักดันให้บุคคลแสดงพฤติกรรมตามเป้าหมายที่ต้องการ
โดยสรุป “แรงจูงใจ” หมายถึง กระบวนการหรือความต้องการที่มีพลังในการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรม เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ 

ความสำคัญของแรงจูงใจ  
การจูงใจก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ ได้แก่ (ธนวรรธ ตั้งสินทรัพย์ศิริ, 2550: 129)
1)      บุคคลมีความภาคภูมิใจในหน้าที่การงานที่ทำอยู่
2)      บุคคลให้ความร่วมมือในการทำงานอย่างเต็มที่
3)      บุคคลรู้จักหน้าที่ของตนและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
4)      บุคคลมีความสนใจในการสร้างสรรค์และรับผิดชอบในงานของตนเองเต็มที่
5)      บุคคลมีความสนใจและพึงพอใจที่จะทำงานนั้น

ทฤษฎีแรงจูงใจ
ทฤษฏีความต้องการลำดับขั้น
เป็นทฤษฎีของนักจิตวิทยาชื่อ อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) ได้พัฒนาทฤษฎีแรงจูงใจที่สำคัญ คือ ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ ในปี ค.ศ. 1943 (Kinicki & Fugate, 2018: 164) ถือเป็นทฤษฎีจูงใจแรกๆที่ได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างกว้างขวาง (ฐาปนา ฉิ่นไพศาล, 2559: 10-6)
โดยทฤษฎีระบุความต้องการของมนุษย์จากขั้นต่ำสุดขึ้นไปสู่ขั้นสูงสุด ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 ลำดับขั้น ได้แก่
1)      ความต้องการทางกายภาพ (Physical needs)
ถือเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เช่น อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย ความสะดวกสบาย เป็นต้น
2)      ความต้องการความปลอดภัย (Safety needs)
เป็นความต้องการทางด้านความปลอดภัยในชีวิต เช่น ความมั่นคงในหน้าที่การงาน ปลอกภัยจากอันตรายต่างๆ ไม่มีความเจ็บป่วย เป็นต้น
3)      ความต้องการทางสังคม (Social needs)
เป็นความต้องการด้านมิตรภาพ ความรัก ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ต้องการเป็นสมาชิกของกลุ่มหรือทีม มีความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
4)      ความต้องการการยกย่อง (Esteem needs)
เป็นความต้องการให้บุคคลอื่นยกย่อง สรรเสริญ ต้องการมีชื่อเสียง เกียรติยศ โดยการสร้างความสำเร็จในชีวิตในด้านต่างๆ
5)      ความต้องการความสำเร็จในชีวิต (Self-actualization needs)
ถือเป็นความต้องการขั้นสูงสุดของมนุษย์ โดยการใช้ความพยายาม ทักษะ และศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้เกิดผลสำเร็จดังที่มีความคาดหวัง

ดังนั้น ผู้บริหารในองค์การต้องมีวิธีการในการสร้างแรงจูงใจพนักงานในองค์การ ซึ่งผลงานในการปฏิบัติงาน จะเกิดจากความสามารถของพนักงาน แรงจูงใจ และปัจจัยสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยการจูงใจจะแบ่งได้ 2 แบบ ได้แก่ การจูงใจภายใน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความต้องการภายในของบุคคลหรือทัศนคติที่ดี และการจูงใจภายนอก ซึ่งมักจะหมายถึง เครื่องล่อใจ เช่น รางวัล การชมเชย การลงโทษ เป็นต้น
แบบจำลองในเรื่องการจูงใจ จะเริ่มจากการมีสิ่งเร้าที่สร้างความต้องการเป็นอันดับแรก แล้วเกิดแรงจูงใจจนนำไปสู่การมีพฤติกรรมตอบสนอง ส่วนทฤษฎีแรงจูงใจมีหลายทฤษฎี เช่น ทฤษฎีความต้องการลำดับขั้นของมาสโลว์ ที่ระบุความต้องการของมนุษย์ที่มี 5 ลำดับขั้น จากความต้องการทางร่างกาย ไปสู้ความต้องการความปลอดภัย ความต้องการทางสังคม ความต้องการการยกย่อง และสุดท้ายคือความต้องการความสำเร็จในชีวิต ทฤษฎีความคาดหวังของวรูมที่ระบุองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้าน คือ ความคาดหวัง เครื่องมือ และคุณค่า เป็นต้น 

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2561

การตัดสินใจ (Decision)

การตัดสินใจ

ดร.อำพล ชะโยมชัย

ผู้บริหารหรือผู้จัดการในองค์การทุกระดับต้องตัดสินใจ ถือเป็นหน้าที่หนึ่งในการบริหารจัดการองค์การ เพราะองค์การต้องเผชิญแรงกดดันหรือการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายนอกและการเปลี่ยนแปลงภายในอยู่ตลอดเวลา และองค์การต้องพบกับปัญหาต่างๆในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ ปัญหาจากการเปิดเสรีการค้าและการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามประเทศ ปัญหาจากภัยร้ายหรือภัยคุกคามระหว่างประเทศ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและกฎระเบียบของภาครัฐต่างๆ หรือปัญหาจากกระบวนการและโครงสร้างภายในองค์การต่างๆ เช่น การปรับเปลี่ยนนโยบายหรือกลยุทธ์ขององค์การ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพ การจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ การบริหารด้านการเงินเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารและสร้างผลประกอบการที่ดี เป็นต้น
ผู้บริหารหรือผู้จัดการต้องศึกษาและเข้าใจถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจ เช่น วัฒนธรรมที่ต่างกันย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจที่แตกต่างกัน เป็นต้น รวมถึงต้องเข้าใจว่าการตัดสินใจอาจเกิดความลำเอียงหรือความผิดพลาดขึ้นได้ โดยเฉพาะความลำเอียงของผู้ตัดสินใจเองที่อาจส่งผลให้การตัดสินใจไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถจัดการกับปัญหาหรือโอกาสที่กำลังประสบอยู่ได้ ซึ่งการตัดสินใจมีหลายลักษณะและหลายรูปแบบ ผู้บริหารหรือผู้จัดการต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับตนเองและองค์การ และกระบวนการหรือขั้นตอนในการตัดสินใจจะให้แนวทางที่เหมาะสมในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถตัดสินใจให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้น   

“การตัดสินใจในองค์การ” คือ กระบวนการในการเลือกทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับองค์การ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการปัญหาหรือโอกาสที่เกิดกับองค์การ 

ขั้นตอนของรูปแบบการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล (ที่มา : Robbins & Judge, 2017: 217)

  1. ระบุปัญหาที่กำลังเผชิญหรือต้องการแก้ไข
  2.  จำแนกเกณฑ์ในการตัดสินใจ
  3. ให้น้ำหนักในแต่ละเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมา
  4. สร้างทางเลือกต่างๆที่เป็นไปได้
  5. ประเมินทางเลือกต่างๆ
  6. เลือกทางเลือกที่ดีที่สุด


ระดับของการตัดสินใจในองค์การ แบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ ระดับของผู้บริหารระดับสูงที่ต้องตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ ระดับผู้บริหารระดับกลางที่ตัดสินใจยุทธวิธี และระดับของผู้จัดการระดับต้นที่ต้องตดสินใจด้านปฏิบัติการ ส่วนขั้นตอนการตัดสินใจนั้น จะเริ่มจากขั้นแรกที่ต้องตระหนักถึงความจำเป็นในการตัดสินใจ จนถึงขั้นสุดท้ายคือ ขั้นการเรียนรู้จากผลการใช้ทางเลือก โดยมักพบว่า การตัดสินใจจะมีความลำเอียงและความผิดพลาดจากการตัดสินใจเสมอ ซึ่งวิธีที่จะลดปัญหาดังกล่าว ต้องมุ่งที่เป้าหมาย ค้นหาข้อมูลที่ตรงข้ามกับความเชื่อ อย่าสร้างเรื่องราวขึ้นมาสนับสนุนเอง และการเพิ่มทางเลือก สุดท้ายความเข้าใจในเรื่องปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ มีความสำคัญต่อองค์การมาก โดยต้องเข้าใจปัจจัยส่วนบุคคล เช่น บุคลิกภาพ เพศ วัฒนธรรม เป็นต้น และปัจจัยในระดับองค์การ เช่น ระบบการประเมิน ระบบการให้รางวัล  และในบางครั้ง องค์การก็อาจจำเป็นในการใช้การตัดสินใจโดยกลุ่ม เพราะอาจมีความเหมาะสมกว่าการตัดสินใจเดี่ยว เพราะการตัดสินใจกลุ่มจะมีข้อดี คือ ช่วยให้ได้ข้อมูลและความรู้ที่มากกว่า ได้ข้อคิดเห็นที่หลากหลาย และมีคุณค่ามากกว่า เป็นต้น
 

การรับรู้ (Perception)

การรับรู้
ดร.อำพล ชะโยมชัย

การรับรู้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตีความสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวหรือที่ได้สัมผัส เมื่อรับรู้อย่างไร บุคคลก็จะแสดงพฤติกรรมตามการรับรู้นั้น โดยการรับรู้จะเกิดขึ้นในลักษณะอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆส่วนบุคคลหลายปัจจัย เช่น ทัศนคติ ค่านิยม ความคาดหวัง ประสบการณ์ เป็นต้น หลายครั้งที่มักจะเกิดการเห็นภาพลวงตา อันเนื่องมาจากการมองที่มีความผิดพลาดจากความเป็นจริง ทำให้บุคคลตีความหมายของสิ่งต่างๆผิดไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นหรือความเป็นจริงของสิ่งที่รับรู้ การแสดงออกจึงอาจจะเกิดความแตกต่างกันไประหว่างคนสองคนที่รับรู้ในสิ่งเดียวกัน ดังนั้น การทำความเข้าใจในเรื่องการรับรู้ เช่น ความหมายของการรับรู้ กระบวนการในการรับรู้ ความผิดพลาดของการรับรู้ เป็นต้น มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการขององค์การและยังมีความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม การทำความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับการรับรู้ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องสำคัญต่อผู้บริหาร เพื่อประยุกต์ใช้ในการรับรู้สถานการณ์และบริหารงานอย่างถูกต้องและเที่ยงธรรม

“การรับรู้” หมายถึง กระบวนการจัดการหรือตีความหมายของสิ่งที่บุคคลคนนั้นได้สัมผัสจากประสาทสัมผัสของตนเอง โดยการตีความจะอาศัยประสบการณ์ การเรียนรู้ ทัศนคติ และค่านิยมของตน และเมื่อรับรู้ในเรื่องนั้นในลักษณะใด ก็จะมีพฤติกรรมที่แสดงออกไปในลักษณะนั้นด้วย

ปัจจัยที่มีผลต่อการรับรู้ ได้แก่ ผู้รับรู้ เป้าหมายที่จะรับรู้ และบริบทหรือสถานการณ์ของการรับรู้ หรืออาจจำแนกปัจจัยที่มีผลต่อการรับรู้เป็น 6 ประการ คือ ค่านิยมและทัศนคติ บุคลิกภาพ ความคาดหวัง ประสบการณ์ การจูงใจ และความสนใจ การรับรู้เป็นกระบวนการที่ประกอบด้วยหลายขั้นตอน ได้แก่ ความสนใจและการเลือกข้อมูล การจัดการข้อมูล การตีความข้อมูล และการดึงข้อมูลกลับมา โดยกระบวนการของการรับรู้อาจพบว่ามีความผิดพลาดของการรับรู้ได้ ซึ่งสาเหตุมีหลายประการ เช่น ความผิดพลาดจากความเหมือน ความผิดพลาดจากการเปรียบเทียบ อคติของบุคคล เป็นต้น ทฤษฎีของการรับรู้จะช่วยให้เราเข้าใจประเด็นต่างๆของการรับรู้มากขึ้น และสามารถใช้ประโยชน์จากการรับรู้ในองค์การได้ เช่น ใช้ในเรื่องการสัมภาษณ์งาน ใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน ใช้ในการบริหารความประทับใจ เป็นต้น 


                                   การประมวลผลข้อมูลและกระบวนการในการรับรู้
                               (ที่มา : Schermerhorn, Osborn, Uhl-Bien & Hunt, 2012: 78)


ทัศนคติ (Attitude)

ทัศนคติ
ดร.อำพล ชะโยมชัย

ทัศนคติเป็นเรื่องของความรู้สึกหรือความคิดที่บุคคลตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่บุคคลนั้นสัมผัสหรือรับรู้ ซึ่งความรู้สึกดังกล่าว อาจเป็นได้ทั้งด้านบวกหรือด้านลบก็ได้ แล้วแต่ว่าบุคคลจะประเมินสิ่งที่สัมผัสนั้นอย่างไร ทัศนคติจึงสำคัญต่อพฤติกรรมองค์การอย่างมาก การที่บุคคลมีทัศนคติที่อาจแตกต่างกันไป ทำให้การแสดงออกด้านพฤติกรรมในองค์การจึงแตกต่างกันไปด้วย ผู้บริหารองค์การจึงต้องเข้าใจว่า บุคลากรขององค์การอาจมีทัศนคติที่แตกต่างกันต่อนโยบายขององค์การ กลยุทธ์องค์การ แผนการดำเนินงานขององค์การ การตัดสินใจของผู้บริหารในองค์การ การทำงานเป็นทีมกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ เหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการเจริญเติบโตและความมีประสิทธิผลขององค์การ หากผู้บริหารเข้าใจเรื่องทัศนคติ จะสามารถบริหารจัดการบุคลากรและกลุ่มต่างๆภายในองค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้บุคลากรทำงานได้ตามเป้าหมายที่องค์การตั้งไว้ รวมถึงการลดปัญหาต่างๆเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานขาดประสิทธิภาพ การขาดงาน การหลีกเลี่ยงไม่ทำงาน การเกิดความขัดแย้งระหว่างพนักงาน ความขัดแย้งในกลุ่มงานหรือระหว่างแผนกงานในองค์การ และการต่อต้านองค์การในหลายๆด้าน ทัศนคติที่สำคัญมากในปัจจุบัน คือ ความพึงพอใจในงาน ความผูกพันต่องาน ความผูกพันกับองค์การ ซึ่งองค์การต้องศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อทัศนคติดังกล่าว เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในองค์การ   

“ทัศนคติ” หมายถึง แนวโน้มของความรู้สึกหรือความคิดที่บุคคลตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่บุคคลนั้นสัมผัสและประเมิน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งด้านบวกหรือด้านลบก็ได้

ทัศนคติเกิดจากแหล่งต่างๆ ดังนี้
1)      การได้รับประสบการณ์ตรง 
2)      การเรียนรู้และดูดซับจากครอบครัว 
3)      การได้รับอิทธิพลและรับข้อมูลจากกลุ่ม เช่น จากเพื่อน จากโรงเรียน 
4)      การเรียนรู้และดูดซับจากสังคม สภาพแวดล้อม จากสื่อต่างๆ จากเหตุการณ์ต่างๆในสังคม

ทัศนคติที่สำคัญ ได้แก่ ความพึงพอใจในงาน ความเกี่ยวข้องกับงาน ความผูกพันกับงาน และความผูกพันกับองค์การ ซึ่งความพึงพอใจในงานเป็นการวัดทัศนคติของบุคคลที่มีต่องานที่ตนรับผิดชอบ หากมีความพอใจสูง ก็ย่อมทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ หากเกิดความไม่พอใจอย่างมาก อาจพบการลาออกของพนักงานได้ ส่วนความเกี่ยวข้องกับงานเป็นความผูกพันตนเองของพนักงานกับงานหรือกิจกรรมที่มีส่วนร่วมในองค์การ การมีความเกี่ยวข้องกับงานสูง พนักงานจะทำงานอย่างแข็งขันและพยายามทำงานของตนให้สำเร็จ ด้านความผูกพันกับงานเป็นเรื่องของการทุ่มเทให้กับงานทั้งทางร่างกาย ความคิด และจิตใจ คล้ายคลึงกับความผูกพันกับองค์การ หากพนักงานคนใดมีความผูกพันกับองค์การ พนักงานคนนั้นจะทุ่มเทให้กับองค์การอย่างมาก มีความจงรักภักดีกับองค์การที่ตนทำงานอยู่

ทัศนคตินั้น สามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยมีวิธีการหลายวิธี เช่น การให้ข้อมูลเพิ่มเติม การติดต่อสื่อสาร และการเสริมแรงให้เกิดทัศนคติที่ต้องการ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติโดยใช้วิธีการให้รางวัลแก่พนักงานที่มีทัศนคติและพฤติกรรมที่ดีหรือการลงโทษพนักงานที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์

บุคลิกภาพ อารมณ์ และค่านิยม

บุคลิกภาพ อารมณ์ และค่านิยม
ดร. อำพล ชะโยมชัย 
          มนุษย์จำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งความเข้าใจนี้ จะส่งผลให้เกิดการยอมรับและเคารพในลักษณะบุคคลของแต่ละคน ส่วนหนึ่งเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม ลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นจากความแตกต่างระหว่างบุคคลเมื่อมาอยู่ร่วมกันหรือต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์มีบุคลิกภาพ อารมณ์ และคุณค่าของชีวิตที่แตกต่างกัน  
บุคลิกภาพของบุคคลสามารถอธิบายได้ด้วยลักษณะต่างๆมากมาย ทั้งลักษณะที่บุคคลคิดและแสดงออก แต่ละคนมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน การทำงานร่วมกันในองค์การให้เกิดความสำเร็จ ต้องเข้าใจบุคลิกภาพที่มีความหลากหลายและมีลักษณะเฉพาะคน
อารมณ์ของบุคคลเป็นเรื่องของความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆรอบตัว บทบาทหน้าที่อาจส่งผลให้ต้องควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ โดยเฉพาะผู้นำที่ต้องความสามารถในการควบคุมอารมณ์ การเรียนรู้เรื่องความฉลาดทางอารมณ์มีความจำเป็นสำหรับการทำงานในองค์การที่มีคนจำนวนมากและมีความหลากหลาย
ค่านิยมมีอิทธิพลต่อการรับรู้ ทัศนคติ แรงจูงใจ และพฤติกรรม เมื่ออยู่ในองค์การ บุคคลใช้ค่านิยมในการแสดงออกทางด้านพฤติกรรมของตนเองในองค์การ อาจส่งผลให้เกิดการปฏิบัติในด้านส่งเสริมการทำงานหรือลดพฤติกรรมในการมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานก็ได้ ขึ้นกับว่า บุคคลคนนั้น มีค่านิยมอย่างไร

          การทำความเข้าใจความแตกต่างในประเด็นต่างๆข้างต้น เป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ในการยอมรับและเคารพซึ่งกันและกัน เอื้อเฟื้อกัน ให้อภัยกันและกัน เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น สามารถที่จะลดผลกระทบลงได้มาก สร้างให้เกิดความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เกิดการพัฒนาความสามารถเพื่อความเจริญเติบโตในอนาคตไปพร้อมๆกัน การทำงานร่วมกันก็จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย องค์การที่ทุกคนร่วมกันทำงานอยู่ ก็จะเติบโต และสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อมได้ดี ทำให้องค์การสามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน 

“บุคลิกภาพ” หมายถึง ลักษณะเฉพาะของบุคคลที่เป็นผลรวมของความคิดและพฤติกรรมในการแสดงออกของบุคคลนั้น ซึ่งประกอบด้วยลักษณะภายใน เช่น ความรู้สึก ความต้องการ อารมณ์ และลักษณะภายนอก เช่น รูปร่างหน้าตา กิริยาท่าทาง การพูด การแต่งกาย เป็นต้น


พฤติกรรมองค์การ (Organizational behavior)

พฤติกรรมองค์การ (Organizational behavior
ดร. อำพล ชะโยมชัย

พฤติกรรมองค์การที่ปรับใช้ในองค์การได้อย่างเหมาะสม ส่งผลต่อความสำเร็จขององค์การอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประสิทธิผลจากการดำเนินงาน ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานในหน่วยงานดีขึ้น การปรับปรุงการบริหารในองค์การ บุคลากรที่มีความสามารถสูงเข้าร่วมงานและทำงานกับองค์การอย่างยาวนาน รวมถึงพนักงานขององค์การทำงานอย่างมีสุข จึงถือได้ว่า การศึกษาพฤติกรรมองค์การและการนำพฤติกรรมองค์การมาใช้ในองค์การ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง 

โดยทั่วไป พฤติกรรมองค์การ จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับบุคคล ระดับกลุ่ม และระดับองค์การ การทำความเข้าใจเรื่องพฤติกรรมองค์การต้องเน้นทั้งสามระดับ รวมถึงต้องเข้าใจถึงความเชื่อมโยงของระดับทั้งสามด้วย เพราะในกลุ่มก็มีบุคคล ในองค์การมีทั้งบุคคลและกลุ่มจำนวนมาก พฤติกรรมที่เกิดในตัวบุคคล ย่อมส่งผลต่อกลุ่มและต่อองค์การในภาพรวม 

ผู้บริหารที่ศึกษาและเข้าใจในเรื่องพฤติกรรมองค์การ จะสามารถบริหารจัดการองค์การให้เกิดความสำเร็จได้ง่ายกว่า ยิ่งในโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งเรื่องสังคม การเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนรุ่นของคนวัยต่างๆ (Generation) ความต้องการที่เปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดไปสู่ยุคดิิจิตัลอย่างเต็มรูปแบบ องค์การยิ่งต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องพฤติกรรมองค์การ เพื่อสามารถขับเคลื่อนองค์การไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ความยั่งยืนจะไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้เลย หากขาดความเข้าใจในเรื่องพฤติกรรมองค์การและการบริหารจัดการสมัยใหม่