ทัศนคติ
ดร.อำพล ชะโยมชัย
ทัศนคติเป็นเรื่องของความรู้สึกหรือความคิดที่บุคคลตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่บุคคลนั้นสัมผัสหรือรับรู้
ซึ่งความรู้สึกดังกล่าว อาจเป็นได้ทั้งด้านบวกหรือด้านลบก็ได้
แล้วแต่ว่าบุคคลจะประเมินสิ่งที่สัมผัสนั้นอย่างไร
ทัศนคติจึงสำคัญต่อพฤติกรรมองค์การอย่างมาก การที่บุคคลมีทัศนคติที่อาจแตกต่างกันไป
ทำให้การแสดงออกด้านพฤติกรรมในองค์การจึงแตกต่างกันไปด้วย
ผู้บริหารองค์การจึงต้องเข้าใจว่า
บุคลากรขององค์การอาจมีทัศนคติที่แตกต่างกันต่อนโยบายขององค์การ กลยุทธ์องค์การ
แผนการดำเนินงานขององค์การ การตัดสินใจของผู้บริหารในองค์การ การทำงานเป็นทีมกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ
เหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการเจริญเติบโตและความมีประสิทธิผลขององค์การ
หากผู้บริหารเข้าใจเรื่องทัศนคติ
จะสามารถบริหารจัดการบุคลากรและกลุ่มต่างๆภายในองค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่งผลให้บุคลากรทำงานได้ตามเป้าหมายที่องค์การตั้งไว้ รวมถึงการลดปัญหาต่างๆเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานขาดประสิทธิภาพ การขาดงาน การหลีกเลี่ยงไม่ทำงาน
การเกิดความขัดแย้งระหว่างพนักงาน
ความขัดแย้งในกลุ่มงานหรือระหว่างแผนกงานในองค์การ
และการต่อต้านองค์การในหลายๆด้าน ทัศนคติที่สำคัญมากในปัจจุบัน คือ
ความพึงพอใจในงาน ความผูกพันต่องาน ความผูกพันกับองค์การ ซึ่งองค์การต้องศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อทัศนคติดังกล่าว
เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในองค์การ
“ทัศนคติ”
หมายถึง
แนวโน้มของความรู้สึกหรือความคิดที่บุคคลตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่บุคคลนั้นสัมผัสและประเมิน
ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งด้านบวกหรือด้านลบก็ได้
ทัศนคติเกิดจากแหล่งต่างๆ ดังนี้
1)
การได้รับประสบการณ์ตรง
2)
การเรียนรู้และดูดซับจากครอบครัว
3)
การได้รับอิทธิพลและรับข้อมูลจากกลุ่ม เช่น จากเพื่อน จากโรงเรียน
4)
การเรียนรู้และดูดซับจากสังคม สภาพแวดล้อม จากสื่อต่างๆ จากเหตุการณ์ต่างๆในสังคม
ทัศนคติที่สำคัญ
ได้แก่ ความพึงพอใจในงาน ความเกี่ยวข้องกับงาน ความผูกพันกับงาน
และความผูกพันกับองค์การ
ซึ่งความพึงพอใจในงานเป็นการวัดทัศนคติของบุคคลที่มีต่องานที่ตนรับผิดชอบ
หากมีความพอใจสูง ก็ย่อมทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ หากเกิดความไม่พอใจอย่างมาก
อาจพบการลาออกของพนักงานได้ ส่วนความเกี่ยวข้องกับงานเป็นความผูกพันตนเองของพนักงานกับงานหรือกิจกรรมที่มีส่วนร่วมในองค์การ
การมีความเกี่ยวข้องกับงานสูง พนักงานจะทำงานอย่างแข็งขันและพยายามทำงานของตนให้สำเร็จ
ด้านความผูกพันกับงานเป็นเรื่องของการทุ่มเทให้กับงานทั้งทางร่างกาย ความคิด
และจิตใจ คล้ายคลึงกับความผูกพันกับองค์การ หากพนักงานคนใดมีความผูกพันกับองค์การ
พนักงานคนนั้นจะทุ่มเทให้กับองค์การอย่างมาก
มีความจงรักภักดีกับองค์การที่ตนทำงานอยู่
ทัศนคตินั้น
สามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยมีวิธีการหลายวิธี เช่น การให้ข้อมูลเพิ่มเติม
การติดต่อสื่อสาร และการเสริมแรงให้เกิดทัศนคติที่ต้องการ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติโดยใช้วิธีการให้รางวัลแก่พนักงานที่มีทัศนคติและพฤติกรรมที่ดีหรือการลงโทษพนักงานที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น