วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2561

บุคลิกภาพ อารมณ์ และค่านิยม

บุคลิกภาพ อารมณ์ และค่านิยม
ดร. อำพล ชะโยมชัย 
          มนุษย์จำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งความเข้าใจนี้ จะส่งผลให้เกิดการยอมรับและเคารพในลักษณะบุคคลของแต่ละคน ส่วนหนึ่งเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม ลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นจากความแตกต่างระหว่างบุคคลเมื่อมาอยู่ร่วมกันหรือต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์มีบุคลิกภาพ อารมณ์ และคุณค่าของชีวิตที่แตกต่างกัน  
บุคลิกภาพของบุคคลสามารถอธิบายได้ด้วยลักษณะต่างๆมากมาย ทั้งลักษณะที่บุคคลคิดและแสดงออก แต่ละคนมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน การทำงานร่วมกันในองค์การให้เกิดความสำเร็จ ต้องเข้าใจบุคลิกภาพที่มีความหลากหลายและมีลักษณะเฉพาะคน
อารมณ์ของบุคคลเป็นเรื่องของความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆรอบตัว บทบาทหน้าที่อาจส่งผลให้ต้องควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ โดยเฉพาะผู้นำที่ต้องความสามารถในการควบคุมอารมณ์ การเรียนรู้เรื่องความฉลาดทางอารมณ์มีความจำเป็นสำหรับการทำงานในองค์การที่มีคนจำนวนมากและมีความหลากหลาย
ค่านิยมมีอิทธิพลต่อการรับรู้ ทัศนคติ แรงจูงใจ และพฤติกรรม เมื่ออยู่ในองค์การ บุคคลใช้ค่านิยมในการแสดงออกทางด้านพฤติกรรมของตนเองในองค์การ อาจส่งผลให้เกิดการปฏิบัติในด้านส่งเสริมการทำงานหรือลดพฤติกรรมในการมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานก็ได้ ขึ้นกับว่า บุคคลคนนั้น มีค่านิยมอย่างไร

          การทำความเข้าใจความแตกต่างในประเด็นต่างๆข้างต้น เป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ในการยอมรับและเคารพซึ่งกันและกัน เอื้อเฟื้อกัน ให้อภัยกันและกัน เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น สามารถที่จะลดผลกระทบลงได้มาก สร้างให้เกิดความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เกิดการพัฒนาความสามารถเพื่อความเจริญเติบโตในอนาคตไปพร้อมๆกัน การทำงานร่วมกันก็จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย องค์การที่ทุกคนร่วมกันทำงานอยู่ ก็จะเติบโต และสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อมได้ดี ทำให้องค์การสามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน 

“บุคลิกภาพ” หมายถึง ลักษณะเฉพาะของบุคคลที่เป็นผลรวมของความคิดและพฤติกรรมในการแสดงออกของบุคคลนั้น ซึ่งประกอบด้วยลักษณะภายใน เช่น ความรู้สึก ความต้องการ อารมณ์ และลักษณะภายนอก เช่น รูปร่างหน้าตา กิริยาท่าทาง การพูด การแต่งกาย เป็นต้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น