วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2561

การรับรู้ (Perception)

การรับรู้
ดร.อำพล ชะโยมชัย

การรับรู้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตีความสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวหรือที่ได้สัมผัส เมื่อรับรู้อย่างไร บุคคลก็จะแสดงพฤติกรรมตามการรับรู้นั้น โดยการรับรู้จะเกิดขึ้นในลักษณะอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆส่วนบุคคลหลายปัจจัย เช่น ทัศนคติ ค่านิยม ความคาดหวัง ประสบการณ์ เป็นต้น หลายครั้งที่มักจะเกิดการเห็นภาพลวงตา อันเนื่องมาจากการมองที่มีความผิดพลาดจากความเป็นจริง ทำให้บุคคลตีความหมายของสิ่งต่างๆผิดไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นหรือความเป็นจริงของสิ่งที่รับรู้ การแสดงออกจึงอาจจะเกิดความแตกต่างกันไประหว่างคนสองคนที่รับรู้ในสิ่งเดียวกัน ดังนั้น การทำความเข้าใจในเรื่องการรับรู้ เช่น ความหมายของการรับรู้ กระบวนการในการรับรู้ ความผิดพลาดของการรับรู้ เป็นต้น มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการขององค์การและยังมีความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม การทำความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับการรับรู้ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องสำคัญต่อผู้บริหาร เพื่อประยุกต์ใช้ในการรับรู้สถานการณ์และบริหารงานอย่างถูกต้องและเที่ยงธรรม

“การรับรู้” หมายถึง กระบวนการจัดการหรือตีความหมายของสิ่งที่บุคคลคนนั้นได้สัมผัสจากประสาทสัมผัสของตนเอง โดยการตีความจะอาศัยประสบการณ์ การเรียนรู้ ทัศนคติ และค่านิยมของตน และเมื่อรับรู้ในเรื่องนั้นในลักษณะใด ก็จะมีพฤติกรรมที่แสดงออกไปในลักษณะนั้นด้วย

ปัจจัยที่มีผลต่อการรับรู้ ได้แก่ ผู้รับรู้ เป้าหมายที่จะรับรู้ และบริบทหรือสถานการณ์ของการรับรู้ หรืออาจจำแนกปัจจัยที่มีผลต่อการรับรู้เป็น 6 ประการ คือ ค่านิยมและทัศนคติ บุคลิกภาพ ความคาดหวัง ประสบการณ์ การจูงใจ และความสนใจ การรับรู้เป็นกระบวนการที่ประกอบด้วยหลายขั้นตอน ได้แก่ ความสนใจและการเลือกข้อมูล การจัดการข้อมูล การตีความข้อมูล และการดึงข้อมูลกลับมา โดยกระบวนการของการรับรู้อาจพบว่ามีความผิดพลาดของการรับรู้ได้ ซึ่งสาเหตุมีหลายประการ เช่น ความผิดพลาดจากความเหมือน ความผิดพลาดจากการเปรียบเทียบ อคติของบุคคล เป็นต้น ทฤษฎีของการรับรู้จะช่วยให้เราเข้าใจประเด็นต่างๆของการรับรู้มากขึ้น และสามารถใช้ประโยชน์จากการรับรู้ในองค์การได้ เช่น ใช้ในเรื่องการสัมภาษณ์งาน ใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน ใช้ในการบริหารความประทับใจ เป็นต้น 


                                   การประมวลผลข้อมูลและกระบวนการในการรับรู้
                               (ที่มา : Schermerhorn, Osborn, Uhl-Bien & Hunt, 2012: 78)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น